ทองคำดิ่งต่ำสุดรอบ 4 เดือน จับตาเฟดลด QE ฉุดราคา
ทองคำดิ่งต่ำสุดรอบ 4 เดือน จับตาเฟดลด QE ฉุดราคา
ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันราคทองคำมาจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าสูงสุดรอบ 2 สัปดาห์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) รัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ปรับขึ้น 1.324% ข้อมูลการจ้างงานและอัตราการว่างงานสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาด ตลอดจนกองทุน SPDR (กองทุนทองคำโลก) มีการเทขายทองคำต่อเนื่องในช่วง 3 วันทำการ (7-10 ส.ค.)
นางศิริลักษณ์ ปโกฏิประภา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ กล่าวว่า ราคาทองคำปลายสัปดาห์ก่อน กับต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลงค่อนข้างแรง โดยทองคำโลก (gold spot) ทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 4 เดือนที่ระดับ 1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หลังจากนั้นก็มีแรงซื้อกลับเข้ามาอย่างรวดเร็ว
“หลังราคาทองคำปรับตัวลงมามากแล้ว จากนี้อาจจะมีการปรับตัวขึ้นทางด้านเทคนิค แต่น่าจะยังติดแนวต้านที่ 1,700-1,750 ดอลลาร์ อาจจะมีแรงเทขายทำกำไรออกมา ตอนที่ราคาเข้าใกล้แนวต้านจุดนี้ ทั้งนี้ สำหรับราคาทองแท่ง 96.5% แนวรับจะให้ไว้ที่ 27,250 บาท ส่วนแนวต้าน 27,700 บาท”
นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า ราคาทองคำโลกในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มผันผวน จากความกังวลในการปรับลดวงเงิน QE ของเฟดในการประชุมเดือน ส.ค.-ก.ย.เป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำในระยะกลาง
โดยฝ่ายวิจัยประเมินกรอบทองคำในสัปดาห์นี้ที่ 1,700-1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยแนะนำให้หาจังหวะ short เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้าน
“แนะนำนักลงทุนว่า ตอนนี้ ถ้าราคารีบาวนด์ ก็ให้หาจังหวะขาย เพราะมองไปข้างหน้ายังมีข่าวลบรออยู่ คือข่าวที่เฟดอาจจะลด QE ลง โดยเราคาดว่าถ้าเฟดมีมติในช่วงการประชุมในเดือน ส.ค.นี้ ก็น่าจะเริ่มมีการลด QE ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 ซึ่งทำให้ทองมีโอกาสจะลงได้อีก เพราะถ้าลด QE ดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น” นายณัฐวุฒิกล่าว
อย่างไรก็ดี ทองคำในประเทศได้ประโยชน์จากสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก โดยจากเดือน เม.ย.ที่ราคาทองคำโลกอยู่ที่ 1,707 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากนั้นราคาปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 1,804 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศปรับตัวขึ้นจาก 25,450 บาท ไปสูงที่สุดที่ 28,500 บาท ก่อนจะลดลงในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำหลังจากนี้น่าจะกลับไปที่ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ค่อนข้างยาก ส่วนราคาต่ำสุดในช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่น่าจะลงไปต่ำกว่า 1,650 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์