ทวนกระแสความคิดเพื่อการรู้แจ้ง
ทวนกระแสความคิดเพื่อการรู้แจ้ง
ทวนกระแสความคิดเพื่อการรู้แจ้ง คติความเชื่อของชาวอินเดียโบราณก่อนหน้าพุทธกาลหรือร่วมสมัยนั้น บางพวกเชื่อว่าทุุกข์ไม่มีเหตุ อยู่ดีๆมันจะทุกข์ มันก็ทุกข์ของมัน เราแก้ไขเยียวยาอะไรไม่ได้ ถ้ามองว่าชีวิตเป็นทุกข์ แสดงว่าทุกข์นั้นแก้ไม่ได้ มนุษย์จำเป็นจะต้องยอมรับ จะเป็นทุกข์จนกว่าจะหลุดพ้นไปได้เอง บางพวกเชื่อว่าทุกข์มีเพราะพระผู้เป็นเจ้าบันดาล และเชื่อว่าทุกข์นั้นแก้ไม่ได้ ต้องรอให้พระผู้เป็นเจ้าให้อภัยโทษ และเราก็พ้นทุกข์ได้จากการให้อภัยโทษนั้น
แต่เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกนี้ พระองค์ได้ชี้ให้เห็นว่าทุกข์นี้มีเหตุ เหตุของทุกข์ที่เรียกว่าอวิชชา เหตุหลักเหตุใหญ่คือความไม่รู้ ความไม่รู้ตัวนั้นคือเหตุแห่งทุกข์ ดังนั้นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนาในฝ่ายการปฏิบัติเราก็มุ่งทำลายต้นเหตุของความทุกข์ ส่วนตัวความทุกข์นั้นเราจัดการอะไรไม่ได้ พระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้แล้วทรงให้ข้อวินิจฉัยไว้เป็นกิจว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ นั่นหมายความว่าเราไม่ต้องทำอะไรเลยกับความทุกข์ เพียงรู้เพียงเห็นเท่านั้น แต่เหตุของมันนั้นต้องกำจัด ต้องละ ความไม่รู้ตัวนั้นเองคือเหตุแห่งทุกข์ เมื่อไม่รู้ตัวก็เข้าไปในความคิด เมื่อเข้าไปในความคิดแล้วก็เกิดความดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ แท้ที่จริงในความดีใจนั้นเป็นความทุกข์เสแสร้งชนิดหนึ่ง ในความเสียใจนั้นเป็นทุกข์ตรงๆ
ในพุทธประวัตินั้น สัญลักษณ์ที่ว่าถาดทองจมลงถึงนาคพิภพนั้นหมายถึงว่าลึกซึ้ง ปัญญาเช่นนี้ลึกซึ้งถึงบาดาลทีเดียว สัญลักษณ์นั้นคือความลึกซึ้ง ความยิ่งใหญ่ เรียกนาคปรัชญา คนที่เห็นกระแสของความคิดได้นั้นเป็นมหาบุรุษ เป็นผู้เรืองปัญญา เมื่อเจ้าชายเห็นเช่นนึ้ท่านก็ข้ามแม่น้ำเนรัญชลา เป็นแม่น้ำทรายตื้นเวลาหน้าน้ำบ่ากว้างแต่ก็ตื้น เมื่อท่านข้ามไปนั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ต่อจากนั้นเองพระพุทธเจ้าเริ่มตั้งสติทวนต้น คือไม่เข้าไปในความคิด เจริญสติที่จะรู้สึกตัว ความคิดเกิดขึ้นทิ้งไป ตัดความคิดทิ้งออกไปทุกๆครั้ง
และในคืนนั้นเองพระพุทธเจ้าก็ทรงอุบัติขึ้นในโลกนี้ จากความโดดเดี่ยวที่ไม่มีรากฐานวัฒนธรรมเลย ไม่มีใครเข้าใจแม้แต่คนเดียว กลับทำให้พระองค์ได้ทรงเห็นกระแสความคิดของตนเอง ความคิดนี้มันสืบต่ออยู่ด้วย คิดออกไป คิดออกไป หกปีแห่งการแสวงหาที่ผิดพลาดและร้าวรานใจ เจ้าชายได้ตระหนักรู้ว่าท่านผิดพลาดอย่างไร แต่ขณะนั้นพระองค์ทรงนั่งแท่นวัชรอาสน์แห่งสติปัฎฐาน พร้อมพรักแล้วเพื่อการตรัสรู้อันยิ่งใหญ่
เครดิต:เขมานันทะ