ข่าวทองคำ – ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองร่วงลงขณะตลาดรอดูตัวเลขจ้างงาน

ข่าวทองคำ – ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองร่วงลงขณะตลาดรอดูตัวเลขจ้างงาน

7 เม.ย.–รอยเตอร์

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐร่วงลง 12.33 ดอลลาร์ สู่ 2,008.02 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี หลังจากเพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 2,031.89 ดอลลาร์ในวันพุธ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2022 หรือจุดสูงสุดรอบ 1 ปี ในขณะที่นักลงทุนรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมี.ค.ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานออกมาในวันศุกร์ ทั้งนี้ ราคาทองมีแนวโน้มว่าอาจจะปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการพุ่งขึ้น 2.04% จากสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอหลายตัวในสัปดาห์นี้ และตัวเลขดังกล่าวกระตุ้นให้นักลงทุนกังวลกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

  • ราคาสัญญาทองล่วงหน้าปิดตลาดปรับลง 0.5% สู่ 2,026.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทางด้านราคาโลหะเงินในตลาดสปอตปิดปรับขึ้น 0.030 ดอลลาร์ สู่ 25.005 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาพลาตินั่มในตลาดสปอตปิดพุ่งขึ้น 10.24 ดอลลาร์ หรือ 1.03% สู่ 1,007.43 ดอลลาร์/ออนซ์ และราคาพัลลาเดียมในตลาดสปอตปิดทะยานขึ้น 36.70 ดอลลาร์ หรือ 2.57% สู่ 1,466.32 ดอลลาร์/ออนซ์ในวันพฤหัสบดี ทั้งนี้ ทั้งราคาโลหะเงินและราคาพลาตินั่มต่างก็ปิดตลาดสัปดาห์นี้ในแดนบวกเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน

  • ราคาทองสามารถพุ่งขึ้นเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ได้ในสัปดาห์นี้ ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบสหรัฐและเบรนท์ต่างก็ปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการพุ่งขึ้นกว่า 6% จากสัปดาห์ที่แล้ว โดยราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ประกาศในวันอาทิตย์ที่ 2 เม.ย.ว่า กลุ่มโอเปกพลัสจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงไปอีกราว 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือนพ.ค.จนถึงสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ราคาทองยังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอในสหรัฐด้วย ทั้งนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เพิ่งรายงานในวันพุธว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐดิ่งลงสู่ 51.2 ในเดือนมี.ค. จาก 55.1 ในเดือนก.พ. ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยผลสำรวจตำแหน่งงานว่างและการเข้า-ออกงาน (JOLTS) รายเดือนในวันอังคาร โดยระบุว่า ยอดการเปิดรับสมัครงานในสหรัฐดิ่งลง 632,000 ตำแหน่ง สู่ 9.9 ล้านตำแหน่งในเดือนก.พ. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2021 หรือจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี

  • นายพอล หว่อง นักยุทธศาสตร์การลงทุนตลาดของบริษัทสปรอทท์กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในช่วงนี้ เพราะว่าถ้าหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป การทำเช่นนั้นก็อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ถ้าหากเฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การทำเช่นนั้นก็อาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยและภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงต่างก็ส่งผลบวกต่อราคาทอง เพราะทองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และเป็นเครื่องมือในการทำประกันความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ นายเคร็ก เออร์แลม นักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท OANDA กล่าวว่า ถ้าหากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในอนาคตช่วยสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ปัจจัยดังกล่าว “ก็อาจจะช่วยหนุนราคาทองให้อยู่เหนือ 2,000 ดอลลาร์ และอาจจะกระตุ้นให้ราคาทองพุ่งขึ้นสู่สถิติสูงสุดใหม่ด้วย”

  • ราคาทองได้รับแรงหนุนในสัปดาห์นี้จากการอ่อนค่าของดอลลาร์และจากการดิ่งลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 101.91 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยขยับขึ้นจาก 101.86 ในช่วงท้ายวันพุธ แต่ยังคงอยู่ใกล้กับจุดต่ำสุดรอบ 2 เดือนที่ 101.40 ที่ทำไว้ในวันพุธ และการอ่อนค่าของดอลลาร์ก็ช่วยให้ทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีดิ่งลงแตะ 3.253% ในวันพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดรอบ 7 เดือน–จบ–

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

เปิดบัญชีเทรด

ข่าวทองคำ