ข่าวทองคำ – ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองดิ่งลง 1.2% ขณะดอลล์แข็งค่า
นิวยอร์ค–19 พ.ค.–รอยเตอร์
-
ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐดิ่งลง 23.67 ดอลลาร์ หรือ 1.19% สู่ 1,958.05 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี หลังจากรูดลงแตะ 1,951.73 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. หรือจุดต่ำสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง โดยราคาทองได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในสหรัฐ เพราะรายงานตัวเลขดังกล่าวช่วยกระตุ้นการคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลลบต่อราคาทอง เพราะทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ให้ดอกเบี้ย นอกจากนี้ ราคาทองยังได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า พรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกันจะสามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการปรับขึ้นเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐได้ทันเวลาด้วย โดยการคาดการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นพุ่งขึ้น และส่งผลลบต่อราคาทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 103.50 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยแข็งค่าขึ้นจาก 102.89 ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 7 สัปดาห์ที่ 103.63 ในระหว่างวัน โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้ทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
-
ราคาสัญญาทองล่วงหน้าปิดตลาดดิ่งลง 1.3% สู่ 1,959.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทางด้านราคาโลหะเงินในตลาดสปอตปิดรูดลง 0.231 ดอลลาร์ หรือ 0.97% สู่ 23.494 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาพลาตินั่มในตลาดสปอตปิดดิ่งลง 19.66 ดอลลาร์ หรือ 1.84% สู่ 1,049.00 ดอลลาร์/ออนซ์ และราคาพัลลาเดียมในตลาดสปอตปิดรูดลง 33.93 ดอลลาร์ หรือ 2.28% สู่ 1,453.19 ดอลลาร์/ออนซ์
-
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกดิ่งลง 22,000 ราย สู่ 242,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ค. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 254,000 ราย โดยการดิ่งลง 22,000 รายในครั้งนี้ถือเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ย. 2021 ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟียรายงานว่า ดัชนีภาคโรงงานภูมิภาคมิดแอตแลนติกของสหรัฐพุ่งขึ้นจาก -31.3 ในเดือนเม.ย. สู่ -10.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ -19.8 เป็นอย่างมาก
-
ตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในสหรัฐส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นจาก 3.581% ในช่วงท้ายวันพุธ สู่ 3.648% ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี หลังจากทะยานขึ้นแตะ 3.659% ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. หรือจุดสูงสุดรอบ 2 เดือน ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดว่า มีโอกาส 66.7% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และมีโอกาส 33.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. โดยการคาดการณ์ดังกล่าวแตกต่างจากเมื่อ 1 เดือนก่อนเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อ 1 เดือนก่อนนักลงทุนเคยคาดว่า มีโอกาสราว 20% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนมิ.ย.
-
นายรอส นอร์แมน นักวิเคราะห์อิสระกล่าวว่า “การที่ราคาทองไม่สามารถรักษาแนวรับทางเทคนิคที่ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 50 วันเอาไว้ได้ มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ราคาทองร่วงลงทดสอบระดับต่ำต่อไปอีก” ทั้งนี้ ราคาทองเพิ่งร่วงผ่านค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 50 วันในวันพุธ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.984.47 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี
Eikon source text
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)