ข่าวทองคำ – ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองร่วงลงแตะจุดต่ำสุด 2 เดือน
นิวยอร์ค–26 พ.ค.–รอยเตอร์
-
ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐร่วงลง 16.67 ดอลลาร์ สู่ 1,940.34 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี หลังจากดิ่งลงแตะ 1,938.63 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. หรือจุดต่ำสุดรอบ 2 เดือน โดยราคาทองได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ในทางบวกต่อการเจรจาต่อรองเรื่องเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ ในขณะที่ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนลดความต้องการซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ ราคาทองก็ได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐด้วย เพราะตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ทั้งนี้ มีข่าวออกมาในวันพฤหัสบดีว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐกับนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจากพรรครีพับลิกันใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงกันในการปรับลดงบรายจ่ายและในการปรับขึ้นเพดานหนี้จากระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ โดยแหล่งข่าวกล่าวว่า ตัวเลขงบรายจ่ายที่ไม่จำเป็นที่ทั้งสองฝ่ายต้องการในตอนนี้อยู่ในระดับที่แตกต่างจากกันเพียงแค่ราว 7.0 หมื่นล้านดอลลาร์
-
ราคาสัญญาทองล่วงหน้าปิดตลาดดิ่งลง 1.1% สู่ 1,943.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทางด้านราคาโลหะเงินในตลาดสปอตปิดรูดลง 0.315 ดอลลาร์ หรือ 1.36% สู่ 22.770 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาพลาตินั่มในตลาดสปอตปิดปรับลง 3.27 ดอลลาร์ สู่ 1,020.50 ดอลลาร์/ออนซ์ และราคาพัลลาเดียมในตลาดสปอตปิดปรับขึ้น 1.32 ดอลลาร์ สู่ 1,416.64 ดอลลาร์/ออนซ์
-
ราคาทองได้รับแรงกดดัน ในขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐปรับขึ้น 4,000 ราย สู่ 229,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 245,000 รายเป็นอย่างมาก ส่วนกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยผลการประเมินครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐประจำไตรมาสแรกในวันพฤหัสบดี โดยระบุว่าจีดีพีสหรัฐเติบโต 1.3% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) โดยปรับขึ้นจากตัวเลขประเมินครั้งแรกที่ 1.1% สำหรับไตรมาสแรก
-
นักลงทุนบางรายมองว่า ตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่นักลงทุนบางรายเคยคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ โดยในตอนนี้นักลงทุนในตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดการณ์ว่า มีโอกาส 59.9% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และมีโอกาส 40.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. โดยโอกาสดังกล่าวปรับขึ้นจากระดับราว 36% ที่เคยคาดไว้ในวันพุธ นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดการณ์กันอีกด้วยว่า เฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจนกว่าจะถึงเดือนก.ย. ทั้งนี้ เทรดเดอร์รอดูดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานที่รัฐบาลสหรัฐจะรายงานออกมาในวันศุกร์นี้ โดยเฟดมักใช้ดัชนี PCE พื้นฐานเป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อ
-
ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 104.23 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยปรับขึ้นจาก 103.84 ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากแข็งค่าขึ้นแตะ 104.31 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. หรือจุดสูงสุดรอบ 2 เดือน โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้ทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นจาก 3.719% ในช่วงท้ายวันพุธ สู่ 3.827% ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. โดยการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ส่งผลลบต่อราคาทอง เพราะทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ให้ดอกเบี้ย–จบ–
Eikon source text
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)