สมถะวิปัสสนาคืออะไร

1,036

สมถภาวนา คือ การที่กุศลจิตเกิดขึ้นพร้อมด้วยสภาพธรรมที่สงบ หรือสงบจากกิเลส ซึ่งพิจารณาอารมณ์ที่ทำให้จิตขณะนั้นเป็นกุศล อารมณ์ของสมถภาวนามีถึง 40 อารมณ์ ได้แก่ กสิณ10 อสุภะ10 อนุสสติ10 อาหาเรปฏิกูลสัญญา1  จตุธาตุววัฏฐาน1  พรหมวิหาร4  และอรูปฌาน4

ทุกท่านคงเคยมีจิตที่เป็นไปในสมถภาวนา แต่อาจไม่รู้ว่าเป็นสมถภาวนา เช่น

– การให้อภัย ไม่โกรธ มีเมตตาต่อบุคคลอื่น (เป็นเมตตาพรหมวิหาร)

– การระลึกถึงความตายแล้วน้อมนึกถึงความไม่มีสาระของกามารมณ์ต่างๆ เช่น รูป เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ (เป็นมรณานุสสติ)

– การซาบซึ้งในพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงหนทางสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม (เป็นพุทธานุสสติ)

ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต เพราะช่วยประคับประคองไม่ให้แต่ละท่านตกไปในอกุศล ทั้งด้วยความคิดและการกระทำ ส่วนสมถภาวนาบางประเภท เช่น กสิณ10 เป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตตั้งมั่นจนถึงฌานจิตได้ (สำหรับผู้ที่มีปัจจัยพร้อม เช่น ปฏิสนธิด้วยมหากุศลญาณสัมปยุต) ทำให้จิตในขณะนั้นสงบระงับจากอกุศล

สมถภาวนาทั้งหมด แม้เจริญสักเท่าไร ก็ทำได้เพียงระงับวีติกมกิเลส(คือกิเลสอย่างหยาบที่ล่วงออกมาเป็นกายทุจริต และวจีทุจริต) และปริยุฏฐานกิเลส (คือกิเลสอย่างกลางที่ทำให้จิตเศร้าหมองเป็นอกุศล แต่ยังไม่ล่วงออกมาทางกายวาจา) ไว้เพียงชั่วคราวตราบเท่าที่จิตยังระลึกถึงอารมณ์นั้นอยู่ แต่ไม่สามารถดับอนุสัยกิเลสใดๆ ได้เลย ด้วยเหตุนี้ เมื่อจิตที่เป็นไปในสมถภาวนาดับไปแล้ว อกุศลจิตใดๆ ก็ยังเกิดต่อได้อีก (อนุสัยกิเลส คือกิเลสอย่างละเอียด ที่สะสมเป็นพืชเชื้ออยู่ในจิต เมื่อมีปัจจัยพร้อมเมื่อไร ก็ปรากฏเป็นปริยุฏฐานกิเลสและวีติกมกิเลสได้อีก)

วิปัสสนาภาวนา คือ กุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยปัญญา ซึ่งพิจารณาสภาพธรรมทั้งปวง (ได้แก่ จิต  เจตสิก  รูป)   ที่ปรากฎ (ทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ) ตามปกติ ตามความเป็นจริง โดยระลึก ศึกษา พิจารณา สังเกตอย่างละเอียด จนทั่ว จนรู้ชัด จนมั่นคงไม่หวั่นไหว ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างทั้งหมดนี้ ไม่เที่ยง(เกิดแล้วดับ) เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา(คือเป็นเพียงธาตุแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยของตนๆ )

วิปัสสนาภาวนา เป็นหนทางดับอนุสัยกิเลสได้โดยสนิท โดยบรรลุอริยสัจจธรรมตามลำดับขั้นตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

ตัวอย่างที่จะให้เห็นความต่างกันของสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนาก็คือหากมีรูปที่น่ายินดีพอใจปรากฏขึ้น

– ผู้ที่เจริญสมถภาวนา จะไม่สนใจในอารมณ์นั้น แต่ระลึกในอารมณ์ทำให้จิตเป็นกุศลแทน เมื่อกุศลจิตนั้นดับไปแล้ว อกุศลจิตที่ยินดีพอใจก็ยังเกิดได้อีก อุปมาเหมือนการตัดต้นไม้ เมื่อเวลาผ่านไป ต้นไม้ที่ยังมีราก(อนุสัย) อยู่นั้นก็เจริญงอกงามขึ้นได้อีก

– ส่วนผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีแล้ว ไม่ต้องเบี่ยงไประลึกถึงอารมณ์อื่น เพราะหมดสิ้นอนุสัยกิเลส ไม่มีพืชเชื้อของความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ อีกต่อไปแล้ว อุปมาเหมือนการขุดถอนต้นไม้ทั้งต้นออกไปแล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ดี กุศลทุกประการ ทั้งทาน ศีล การระลึกในอารมณ์ที่ทำให้จิตเป็นกุศล (สมถภาวนา) และการเจริญสติปัฏฐาน(วิปัสสนาภาวนา) ล้วนเกื้อกูล อุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และสะสมสืบต่อในจิต เป็นปัจจัยให้กุศลจิตนั้นๆ  เกิดขึ้นอีกในภายหลัง และเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากเกิดขึ้นด้วย ซึ่งกุศลจิตที่เกิดขึ้นแต่ละขณะนั้นเป็นโอกาสที่หาได้ยาก แต่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตคุ้มค่ามากที่สุดก็คือการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นหนทางรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจนดับสังสารวัฏฎ์ได้นั่นเอง

ความเห็นถูกปิด แต่trackbacksละ Pingbacks are เปิด