ข่าวฟอเร็กซ์ – ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดัชนีดอลล์ดีดขึ้นจากจุดต่ำสุดรอบ 1 ปี
ข่าวฟอเร็กซ์ – ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดัชนีดอลล์ดีดขึ้นจากจุดต่ำสุดรอบ 1 ปี
นิวยอร์ค–17 เม.ย.–รอยเตอร์
-
ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินดีดขึ้นจากจุดต่ำสุดรอบ 1 ปีในวันศุกร์ หลังจากร่วงลงในช่วงแรก ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดค้าปลีกสหรัฐร่วงลงอย่างรุนแรงเกินคาดในเดือนมี.ค. เนื่องจากผู้บริโภคปรับลดการซื้อรถยนต์และสินค้ารายการใหญ่ โดยยอดค้าปลีกดิ่งลง 1.0% ในเดือนมี.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับลง 0.2% ในเดือนก.พ. และเทียบกับโพลล์รอยเตอร์ที่คาดว่า ยอดค้าปลีกอาจปรับลงเพียง 0.4% ในเดือนมี.ค. ทางด้านยอดค้าปลีกที่ไม่รวมรถยนต์, น้ำมันเบนซิน, วัสดุก่อสร้าง และบริการอาหาร หรือยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ปรับตัวสอดคล้องเป็นอย่างมากกับปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปรับลง 0.3% ในเดือนมี.ค. หลังจากปรับขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. ทั้งนี้ องค์ประกอบบางส่วนในรายงานยอดค้าปลีกไม่ได้อยู่ในภาวะอ่อนแอมากเท่ากับที่นักเศรษฐศาสตร์บางรายคาดการณ์ไว้ และปัจจัยนี้ก็ช่วยหนุนดอลลาร์ให้ดีดกลับขึ้นมาได้ นอกจากนี้ ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคก็มีแนวโน้มพุ่งขึ้นในไตรมาสแรกด้วย เพราะถึงแม้ว่ายอดค้าปลีกพื้นฐานร่วงลงในเดือนมี.ค. ยอดค้าปลีกพื้นฐานก็ปรับขึ้นในเดือนก.พ.และพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งมากในเดือนม.ค.
-
ดอลลาร์อยู่ที่ 133.77 เยน ในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์ โดยพุ่งขึ้นจากระดับปิดตลาดวันพฤหัสบดีที่ 132.58 เยน ส่วนยูโรอยู่ที่ 1.1000 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันศุกร์ โดยอ่อนค่าลงจาก 1.1048 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 1.10755 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2022 ทางด้านดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 101.54 ในช่วงท้ายวันศุกร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 101.00 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี หลังจากดิ่งลงแตะ 100.78 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2022 และดัชนีดอลลาร์ปิดตลาดสัปดาห์นี้ในแดนลบเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน ทั้งนี้ ปอนด์อยู่ที่ 1.2414 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันศุกร์ โดยดิ่งลงจาก 1.2523 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี
-
ดอลลาร์ได้รับแรงหนุน หลังจากนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในวันศุกร์ว่า ถึงแม้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เฟดก็ยังไม่ได้ประสบความก้าวหน้ามากนักในการทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% และเฟดจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ดี นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐสาขาแอตแลนตากล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีกหนึ่งครั้งจะเปิดโอกาสให้เฟดสามารถยุติวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ด้วยความมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะปรับเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ได้อย่างสม่ำเสมอ ทางด้านนายออสแตน กูลส์บี ประธานเฟดสาขาชิคาโกกล่าวว่า มีความเป็นไปได้อย่างแน่นอนที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ในขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของเฟดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
-
เทรดเดอร์ในตลาดสัญญาล่วงหน้า Fed funds คาดการณ์ว่า มีโอกาส 81% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับราว 4.411% ในเดือนธ.ค. ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานในวันศุกร์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐปรับขึ้นจาก 62.0 ในเดือนมี.ค. สู่ 63.5 ในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 62.0 อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในอีกหนึ่งปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 4.6% โดยพุ่งขึ้นจากระดับ 3.6% ที่เคยคาดไว้ในเดือนมี.ค.
Eikon source text
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)
ความเห็นถูกปิด แต่trackbacksละ Pingbacks are เปิด